วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

จดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์


จดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
เรื่อง ขอให้ร่วมกันแสดงออกเพื่อ “หยุด” การนำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่
เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน


วันที่ 18 เมษายน 2554


เรียน ประชาชนและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
สำเนาถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร

เรื่อง ขอให้ร่วมกันแสดงออกเพื่อร่วมกัน “หยุด” การนำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยไม่ฟังเสียงประชาชน


เนื่องด้วยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ กระทรวงไอซีที ได้จัดทำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ขึ้นมาใหม่ โดยมีแนวโน้มว่าจะเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสู่วาระที่หนึ่ง ซึ่งเป็นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้ทันก่อนยุบสภาสมัยนี้

ประเด็นสำคัญในร่างกฎหมายดังกล่าวถูกนำเสนอในสื่อมวลชนและเว็บไซต์ต่างๆ [ http://ilaw.or.th/node/857 ] พบว่าสาระสำคัญของร่างกฎหมายสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้เล่นอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการที่อาจได้รับผลกระทบจากกฎหมาย มีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็น นอกจากจะไม่ได้แก้ไขปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นในพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แล้ว ยังเพิ่มสาระสำคัญที่ยิ่งสวนทางกับการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์

ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบัน ได้แก่ ความพยายามเอาผิดกับตัวกลางผู้ให้บริการ ซึ่งส่งเสริมวัฒนธรรมการจับแพะและการเซ็นเซอร์ตัวเอง เจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ต้องมีความรู้ความสามารถแต่มีอำนาจสูง และมีอำนาจควบคุมข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน นอกจากนี้ยังมีหลายมาตราที่เขียนไม่ชัดเจน เปิดช่องให้ตีความได้กว้างขวาง

ร่างกฎหมายฉบับใหม่นั้น พบว่าไม่ได้แก้ปัญหาเดิม แต่กลับยิ่งเพิ่มเนื้อหาหลายมาตราอันจะส่งผลให้ผู้ดูแลระบบซึ่งเป็นตัวกลางมีความเสี่ยงต่อโทษอาญาสูงขึ้น โปรแกรมหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและเข้าถึงข้อมูลอาจกลายเป็นโปรแกรมผิดกฎหมาย การสำเนาข้อมูลก็เสี่ยงต่อการถูกตีความว่าผิดกฎหมาย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก็ไม่มีสัดส่วนและที่มาที่เชื่อมโยงกับประชาชนเลยแม้แต่น้อย ตัวบทหลายมาตราไม่ชัดเจนเปิดช่องให้ตีความได้กว้างขวางตามดุลยพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมายฝ่ายเดียว จนสามารถกล่าวได้ว่า ร่างกฎหมายนี้จะทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกคนมีโอกาสทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว

กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นกฎหมายสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ไม่ควรดำเนินการอย่างเร่งรีบ การไม่เปิดพื้นที่ให้เกิดการมีส่วนร่วมชวนให้ตั้งคำถามได้ว่า ผลประโยชน์ที่แท้จริงตกแก่ฝ่ายใด ซึ่งการสร้างความชอบธรรมในกฎหมายสามารถทำได้โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขกฎหมายอย่างเต็มที่

แม้อาจกล่าวได้ว่า กว่ากฎหมายจะออกมาได้ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนที่อาจเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ก็ตาม แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขในหลักการและสาระสำคัญได้ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมเสนอแก้ไขกฎหมาย สามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องผัดวันประกันพรุ่งให้เป็นภาระของอนาคต

บุคคลและองค์กรซึ่งมีรายชื่อลงนามในท้ายจดหมายฉบับนี้ ขอเรียกร้องให้ยุติการเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ....เข้าสู่กระบวนการ ทั้งนี้ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมเสนอข้อแก้ไขหรือทำประชาพิจารณ์

ร่วมลงชื่อเพื่อแสดงจุดยืนในฐานะผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
เพื่อ “หยุด” ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ช่วยกัน “หยุด” ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดย

  • ช่วยกันลงชื่อด้วยการแจ้งชื่อสกุลใน comment ท้ายนี้ หรือส่งรายชื่อของคุณมาได้ที่ ilaw@ilaw.or.th
  • ช่วยกันบอกต่อและรวบรวมรายชื่อจากเพื่อนๆ และช่วยกันส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อนของเพื่อนรับรู้
  • สำหรับผู้ที่ไม่อยากเปิดเผยตัวตนชื่อสกุลจริง เพียงแค่กด like ในเฟซบุคหน้านี้ก็ได้ http://on.fb.me/StopCCA11
  • เสนอไอเดียสร้างสรรค์อื่นๆ เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนที่มีต่อร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ;)

"หากคุณเป็นบล็อกเกอร์ หรือผู้ดูแลเว็บไซต์ สามารถเลือกแบนเนอร์ที่ต้องการ copy code html ในกล่องไปวางไว้ในเว็บได้เลย"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น