วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

คำถามเรื่องจริยธรรมของสื่อมวลชน

คำถามเรื่องจริยธรรมของสื่อมวลชน

สาธารณชนมักจะสงสัยและตั้งคำถามอยู่เสมอๆและบ่อยๆก็คือ สื่อมวลชนเคารพจรรยาบรรณ ทำตามจรรยาบรรณ และมีจริยธรรมเพียงใด รวมไปถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อ และที่สำคัญก็คือ ดูเหมือนว่าสื่อกระทำการละเมิดจรรยาบรรณและไร้จริยธรรมในสายตาของสาธารณชนอยู่เสมอๆ แต่เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการกระทำของสื่อ ข้ออ้างที่สื่อหยิบหยกขึ้นมาโต้แย้งก็คือ เรื่องเสรีภาพในการเผยแพร่ข่าวสาร หากมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งทางกฎหมายหรือทางสังคมต่อสื่อ สื่อก็มักโต้กลับว่าเป็นการคุกคามสื่อ ดังนั้นจึงมีข้อที่จะต้องพิจารณาต่อว่า สื่อได้ใช้ข้ออ้างในเรื่องเสรีภาพการเสนอข่าวสารโดยเกินขอบเขตของจรรยาบรรณและจริยธรรมหรือไม่ เพราะในข้อกำหนดของจรรยาบรรณแลจริยธรรมนั้น แม้จะรับรองสิทธิเสรีภาพของสื่อ แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบควบคู่กันไปด้วย

สิ่งที่สาธารณชนมักหยิบยกขึ้นมาตั้งข้อสงสัยต่อการทำงานของสื่อ ว่ามีการการละเมิดจรรยาบรรณหรือจริยธรรมของสื่อ หรือหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ดังเช่น

1. การเสนอภาพลามกอนาจาร สื่อในปัจจุบันได้เสนอภาพและเรื่องราวที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดข้อนี้มากที่สุด ตัวอย่างก็คือ สื่อสิ่งพิมพ์ตีพิมพ์ภาพการแต่งตัวที่ไม่เหมาะสมของนักแสดงทั้งหลาย ทั้งภาพปกติที่นุ่งน้อยห่มน้อยพร้อมเรื่องราวการใช้ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ และภาพที่เข้าข่ายลามกอนาจารโดยตรงที่เรียกกันว่า “ภาพหลุด” นั้นเหมาะสมหรือไม่ ด้านสื่อโทรทัศน์ก็จัดทำรายการที่มีเรื่องราวทางเพศที่ไม่เหมาะสม ดังที่เคยเกิดขึ้นในรายการทอล์คโชว์รายการหนึ่ง ที่ผู้ร่วมรายการได้พูดถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างสนุกปาก โดยมีผู้ดำเนินรายการคอยผสมโรงอย่างสนุกสนาน กรณีเช่นนี้จะเข้าข่ายละเมิดจรรยาบรรณหรือไม่ หากใช่ จะมีการจัดการอย่างไรกับสื่อที่ละเมิด หากไม่ใช่ ก็ต้องให้ความหมายของคำว่า “ลามกอนาจาร” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

2. ภาพการก่ออาชญกรรม ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรง หรือผลจาการใช้ความรุนแรง ดังที่เกิดขึ้น 2 กรณีที่โด่งดังคือ กรณีแรก การฆาตกรรม พนักงานรักษาความปลอดภัยและหญิงสาวรวม 2 ศพ โดยคนร้ายที่เป็นแฟนเก่าของหญิงสาว โดยกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบันทึกภาพไว้ได้ เหตุเกิดที่จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ วันที่ 8 มกราคม 2552 ต่อมาสถานีโทรทัศน์ทุกแห่งได้นำภาพจากกล้องโททัศน์วงจรปิดดังกล่าวมาเผยแพร่ผ่านรายการข่าว โดยเผยแพร่ซ้ำๆ วันละหลายเวลาเป็นเวลาวัน และสื่อสิ่งพิมพ์ก็นำภาพนิ่งไปเผยแพร่แทบทุกฉบับโดยไม่ปิดบัง กรณีต่อมาก็คือ ภาพศีรษะชาวต่างชาติห้อยอยู่ที่ราวสะพานพระราม 8 โดยในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าถูกฆาตกรรม เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งสถานีโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์นำไปเผยแพร่ในลักษณะเดียวกันกับกรณีฆาตกรรม 2 ศพที่ จังหวัดปราจีนบุรี สองกรณีดังกล่าวนี้เกิดการตั้งคำถามอย่างกว้างขวางว่า สื่อทำเหมาะสมหรือไม่ ถูกต้องตามข้อกำหนดแห่งจรรยาบรรณหรือไม่

3. การไม่ใช้หน้าที่ไปในทางรับอามิสสินจ้าง เพื่อให้กระทำหรือไม่กระทำการเผยแพร่ข่าวสารอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของผู้ให้อามิส ซึ่งขัดต่อจรรยาบรรณว่าด้วยการรักษาประโยชน์แห่งสาธารณะด้วยนั้น ปัจจุบันสื่อเป็นองค์กรธุรกิจที่แสวงหารายได้เพื่อสร้างกำไร และรายได้หลักก็มาจากการโฆษณาสินค้าและบริการขององค์กรธุรกิจต่างๆ หากองค์กรนั้นทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม สร้างความเสียหายแก่สาธารณะ สื่อจะกล้าเปิดโปงหรือไม่ เพราะการเปิดโปงนั้นอาจสร้างความไม่พอใจแก่องค์กรธุรกิจดังกล่าว อาจนำมาซึ่งการถอนโฆษณาในสื่อ ทำให้สื่อขาดรายได้ไป
ในกรณีนี้สื่อมักถูกกล่าวหาหรือตั้งข้อสงสัยอยู่เสมอ ว่าละเว้นการทำหน้าที่ของสื่อ หรือทำไปอย่างไม่เต็มใจ เพราะต้องรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอาไว้ ยิ่งปัจจุบันสื่อเองก็เป็นองค์กรธุรกิจหน่วยหนึ่ง แสวงหารายได้จากการทำธุรกิจโดยมีสินค้าคือข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น หากข้อมูลข่าวสารมีผลกระทบต่อคู่สัญญาทางธุรกิจ ที่สนับสนุนการโฆษณาในสื่อ โอกาสที่สื่อจะละเลยหน้าที่ย่อมมีมากขึ้น นำไปสู่การเสียประโยชน์ของสาธรณชน อันเป็นการละเมิดจรรยาบรรณอย่างชัดเจน เมื่อเกิดข้อสงสัยขึ้นมา ส่วนมากแล้ว เรื่องก็มักจะจางหายไปโดยไม่มีการสืบสาวราวเรื่องใดๆ

4. การเคารพผู้อื่น ในข้อนี้ สื่อมักจะถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า ชอบเสนอข่าวในลักษณะล่วงละเมิดผู้อื่น โดยเฉพาะในสื่อบันเทิง ที่เน้นการเสนอข่าวในลักษณะหวือหวา ตื่นเต้น เร้าใจ ซึ่งข่าวที่ปรากฏนั้นมักมีผลด้านลบแก่ผู้ที่ตกเป็นข่าว เมื่อมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น สื่ออื่นและองค์กรวิชาชีพทางสื่อมักไม่ให้ความสนใจ ผู้ได้รับความเสียหายต้องฟ้องร้องคดีความเพื่อขอความยุติธรรมจากศาล ผลปรากฏว่าสื่อเป็นฝ่ายพ่ายแพ้มากกว่าชนะ หรือมีการประนีประนอมยอมความในศาลโดยสื่อยอมรับผิด สื่ออื่นๆที่นอกเหนือจากสื่อบันเทิงก็มีคดีความฟ้องร้องในลักษณะเช่นนี้เสมอ ที่มากที่สุดก็คือคดีหมิ่นประมาท มีทั้งสื่อเป็นผู้แพ้และผู้ชนะ

การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ดังที่กล่าวมานั้น สื่อด้วยกันเองหรือองค์กรวิชาชีพทางสื่อมักเลือกที่จะนิ่งเฉยมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์สื่อด้วยกัน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะสื่อยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพข้อหนึ่ง ที่กำหนดให้สื่อ “ไม่กระทำการใดๆอันเป็นการบั่นทอนเกียรติคุณของวิชาชีพหรือความสามัคคีของเพื่อนร่วมวิชาชีพ” ตามที่กำหนดไว้ใน “จรรยาบรรณหนังสือพิมพ์” เข้ากับคำกล่าวที่มักได้ยินเสมอในหมู่คนทำสื่อว่า “แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวันด้วยกัน” หากเป็นเช่นนี้จริงก็นับว่าเป็นการแปรเจตนารมณ์ของจรรยาบรรณผิดจากความเป็นจริงมากที่สุด

5. การเสนอข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือไม่ชัดเจน หรือบิดเบือนเพื่อการณ์ใดการณ์หนึ่ง ซึ่งมีตัวอย่างหลายกรณี อาทิ กรณีสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเสนอรายงานเรื่องบั้งไฟพญานาคว่าเป็นสิ่งที่คนทำขึ้น ไม่ใช่เกิดจากพญานาคตามที่คนเชื่อกัน โดยบอกว่าเกิดจากการยิงปืนขึ้นฟ้าของชาวลาวเพื่อฉลองเทศกาลออกพรรษา โดยได้เสนอรายงานนี้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2545 จึงเกิดการตั้งข้อสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีว่า นำเสนอข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ ถึงขนาดมีการกล่าวหาว่าไอทีวีเรื่องขึ้นมาเอง หรือที่เรียกกันว่า “เต้าข่าว” มีการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แต่เรื่องก็เงียบหายไปในที่สุด และอีกกรณีหนึ่งก็คือ การนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน 2551 โดยระบุว่า กลุ่มคนเสื้อแดงจาก จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับเงินค่าจ้างจากนักการเมืองท้องถิ่นรายละ 2,000-3,000 บาท เพื่อจูงใจให้ไปร่วมรายการ "ความจริงวันนี้" ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพฯ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน โดยแจกแจงว่า เงินจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 500 บาท ค่าอาหารอีกวันละ 200 บาท เป็นเวลา 5 วัน ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มคนเสื้อแดงจังหวัดเชียงใหม่ จนถึงขนาดรวมตัวกันปิดล้อมสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเชียงใหม่ เรียกร้องให้ผู้บริหารออกมากล่าวคำขอโทษ จนในที่สุดฝ่ายบริหารต้องทำตามข้อเรียกร้อง เหตุการณ์จึงสงบลง

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของการละเมิดหรือหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจรรยาบรรณของสื่อ ซึ่งเป็นปัญหาเหล่านี้ท้าทายต่อการทำงานของสื่อในยุคปัจจุบัน ที่จะต้องแข่งขันกันนำเสนอข่าวสารให้รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์และนำหน้าคู่แข่ง ที่มีทั้งสื่อกระแสหลักด้วยกันและสื่อแขนงใหม่ๆเช่น สื่ออินเตอร์เน็ต วิทยุออนไลน์ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทั้งยังจะต้องรักษารายได้อันเกิดจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นรายได้หลัก ซึ่งจะต้องระมัดระวังไม่ให้การเสนอข่าวเกิดกระทบกระทั่งกับผู้ลงโฆษณา ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าสื่อในยุคปัจจุบันนี้มีโอกาสที่จะละเมิดต่อจรรยาบรรณ จริยธรรมแห่งวิชาชีพของตน และต่อแนวคิดไวยากรณ์ทางจริยธรรมอันครอบคลุมหลักแห่งจรรยาบรรณและจริยธรรมทั้งหลายทั้งปวงของสื่อมวลชน

แต่คำถามที่สำคัญยิ่งก็คือ เมื่อปรากฏชัดแจ้งว่าสื่อมวลชนละเมิดจรรยาบรรณและจริยธรรมแห่งวิชาชีพโดยชัดแจ้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก หรือสื่อกระแสรองที่ยังเป็นสื่อแขนงใหม่ๆ ใครหรือหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบในการลงโทษ หรือจะปล่อยให้องค์กรของสื่อควบคุมกันเอง ซึ่งเท่าที่ผ่านมา การลงโทษสื่อในกรณีละเมิดจรรยาบรรณและจริยธรรมนั้น ไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน ยกเว้นในกรณีที่เป็นคดีขึ้นสู่ชั้นศาล ซึ่งจะต้องเป็นไปตามคำพิพากษาของศาล
นี่นับเป็นคำถามหรือเป็นโจทย์ที่ท้าทายยิ่ง ต่อสาธารณชนที่เป็นผู้รับผลจากการกระทำของสื่อมวลชน ว่าจะจัดการกับความบกพร่องของสื่อมวลชนอย่างไร และต่อองค์กรสื่อมวลชนรวมถึงตัวสื่อมวลชนเองด้วย ว่าจะจัดการกับตัวเองอย่างไรเพื่อให้คงไว้ซึ่งจรรยาบรรณและจริยธรรมแห่งวิชาชีพของตน.
.......
หมายเหตุ ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความขนาดยาวเรื่อง "บทสำรวจจรรยาบรรณของสื่อมวลชนไทยและคำถามเรื่องจริยธรรม" ท่านที่สนใจอ่านบทความฉบับเต็มเชิญอ่านได้ที่

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=442326

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น