วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สำรวจ‘ไอคิว’ เด็กไทย : โง่และฉลาดเป็นจังหวัด?

ผมยังงงๆ อยู่กับข่าวที่กรมสุขภาพจิต แถลงวันก่อนว่าได้ทำการสำรวจ “ไอคิว” เด็กนักเรียนไทยแล้วพบว่าต่ำกว่ามาตรฐานสากล

เฉลี่ย 98.59 เก็บตัวอย่างกว่า 7 หมื่นคนทั่วประเทศ ถือเป็นการสำรวจครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ค่าเฉลี่ยไอคิวระดับจังหวัดพบ นนทบุรี ไอคิวสูงสุด ขณะที่ นราธิวาส ไอคิวต่ำสุด ด้าน อีสาน 17 จังหวัดติดอันดับไอคิวต่ำกว่าปกติ พร้อมแนะ 7 วิธีพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย เน้นการเลี้ยงดูเหมาะสมและการมีโภชนาการที่ดี

และดูเหมือนจะสรุปว่าสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะพันธุกรรม และเด็กไทยขาดอาหารที่สำคัญคือไอโอดีน
ภาษาทางการที่แถลงข่าวบอกว่า “ไอคิว” ที่ว่านี้คือ “สถานการณ์ระดับสติปัญญา”

หากคนไทยทั่วไปอ่านข่าวนี้ก็คงหนีไม่พ้นตีความว่านี่คือการวัด “ความโง่” กับ “ความฉลาด” ของเด็กไทย
ทั้งๆ ที่คำนิยามของ “ไอคิว” ไม่จำเป็นต้องหมายถึงความเฉลียวฉลาดมากหรือน้อย หากแต่เป็นหัวข้อที่เป็นประเด็นถกเถียงกันในแวดวงวิชาการ หมอ และนักสังคมวิทยามาช้านาน

อีกทั้งการสำรวจที่เป็นเพียง “ค่าเฉลี่ย” และประกาศออกมาว่าเด็กไทยจังหวัดไหนมี “ไอคิว” สูงสุด และจังหวัดไหนมีต่ำสุดนั้นเป็นการสร้างภาพที่ผิดเพี้ยน สร้างความเข้าใจผิด และทำให้เกิดความเชื่อของสังคมไปในทางผิดๆ อย่างเสียหายยิ่ง

เพราะไอคิวเฉลี่ยก็คือไอคิวเฉลี่ยของจำนวนตัวอย่างที่ไปทำการสำรวจ เป็นเรื่องของสถิติเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าค่าเฉลี่ยนั้นจะเป็นจริงไปทั้งหมดในจังหวัดใกล้เคียงตามสภาพภูมิศาสตร์

เด็กไม่ได้ฉลาดหรือโง่เป็นจังหวัดๆ...เพราะ “สติปัญญา” เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะวัดโดยพันธุกรรมหรือการเลี้ยงดูหรือโภชนาการ

ดังนั้น การใช้วิธีการสถิติมาวัด “ไอคิว” ของเด็ก และสรุปว่าเด็กจังหวัดไหนมี “สติปัญญาเฉลี่ย” มากกว่าจังหวัดไหนย่อมเป็นความผิดพลาดที่จะสร้างให้เกิด “ปมด้อย” หรือ “ปมเขื่อง” ในสังคมอย่างน่าตำหนิอย่างยิ่ง

อีกทั้งกรมสุขภาพจิตควรจะอธิบายให้สาธารณชนได้เข้าใจว่า วิธีการวัด “ไอคิว” ของเด็กไทยครั้งนี้ที่เรียกว่าเป็น “วิธีมาตรฐานสากล” นั้นทำอย่างไร

การทดสอบ “ไอคิว” ในหลายๆ ประเทศก็เป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างร้อนแรงมาตลอดว่ามีความแม่นยำในการวัด “สติปัญญา” ของคนที่เป็นตัวอย่างทดลองเพียงใด และการวัด “ไอคิว” อย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึง “อีคิว” ด้วยนั้นจะสามารถประเมิน “ศักยภาพความเป็นคน” ของผู้ถูกสำรวจหรือไม่

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงผลสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (ไอคิว) เด็กนักเรียนไทยทั่วประเทศ ว่า จากการสำรวจเด็กนักเรียนอายุ 6-15 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สาธิตและราชภัฏ) และสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 72,780 คน ซึ่งเป็นการสำรวจไอคิวครั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามวิธีมาตรฐานสากล โดยใช้เครื่องมือเดียวกับของนานาประเทศ ได้แก่ แบบทดสอบสติปัญญา Standard Progressive Matrices (SPM parallel version ; updated 2003) เก็บข้อมูลภาคสนาม โดย นักจิตวิทยาคลินิกและพยาบาลจิตเวช ในช่วงเดือน ธ.ค. 2553 - ม.ค. 2554 พบว่า เด็กนักเรียนไทยมีไอคิวเฉลี่ยเท่ากับ 98.59 ถือว่าเป็นค่าระดับสติปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ค่อนไปทางต่ำ

คำแถลงข่าวของกรมสุขภาพจิต บอกว่า ค่ากลางของมาตรฐานสากลในปัจจุบันไอคิวเท่ากับ 100 เมื่อดูลักษณะภาพรวมของประเทศพบว่า มีเด็กเกือบครึ่งหนึ่ง 48.5% ที่มีปัญหาไอคิว อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 100 ทั้งนี้ มีเด็กที่มีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ คือ ต่ำกว่า 90 ประมาณ 28.4% และมีนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาต่ำกว่า 70 อยู่ถึง 6.5% ซึ่งเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลไม่ควรเกิน 2%

หากพิจารณาจากข่าวชิ้นนี้ก็สรุปว่า โดยภาพรวมไอคิวของเด็กนักเรียนไทยมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานสากลและมีการกระจายตัวในลักษณะที่มีเด็กนักเรียนที่มีไอคิวต่ำกว่าค่าปกติมากกว่ามาตรฐานสากล และพบว่าเด็กที่ไอคิวต่ำก็จะต่ำมาก ในขณะเดียวกันเด็กนักเรียนที่มีไอคิวสูงก็จะมีแนวโน้มสูงมาก ส่วนค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญาเมื่อเทียบตามภาคเมื่อเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ไอคิว เฉลี่ย 104.5 ภาคกลางไอคิวเฉลี่ย 101.29 ภาคเหนือไอคิวเฉลี่ย 100.11 ภาคใต้ไอคิวเฉลี่ย 96.85 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือไอคิว เฉลี่ย 95.99

 อ่านข่าวนี้แล้วก็มี เกิดคำถามมากมายว่าเป้าหมายของการสำรวจไอคิวเด็กไทยครั้งนี้ที่มีจุดอ่อนและ ข้อบกพร่องทั้งทางด้านวิชาการและภาคปฏิบัตินั้นมีจุดประสงค์อันใด?
 เป็นประเด็นเรื่องขาดสารไอโอดีนของเด็กไทย?
 ประเด็นเรื่องปัญหาการเลี้ยงดูเด็กไทยของพ่อแม่?
 ประเด็นคุณภาพการศึกษา?
 หรือเพื่อแยกว่าเด็กจังหวัดไหนใครโง่และฉลาดกว่ากัน?
 สติปัญญาผมแย่เกินกว่าที่จะเข้าใจได้จริงๆ ครับ
 


เพิ่มเติม....
ก่อนที่จะสำรวจ‘ไอคิว’ เด็กไทย : โง่และฉลาด กลับไปพัฒนาการศึกษาก่อนดีมัย...???
เท่าที่อ่านมาดูเหมือนว่าไม่มีความเป็นสากลเลย...คนเราเกิดมามีความสามารถแตกต่างกัน..ถ้าวัดกันแบบนี้กลับไปปันน้ำเป็นตัวเลยดีมัย...???
แล้วภาษาที่ใช้ในการสำรวจก็เข้าใจยาก....ไม่มีการอธิบาย....
เด็กภาคกลางเด็กในเมือง เค้ามีโรงเรียนติวเยอะ...ถึงได้คะแนนดีๆๆ
"แน่จิงก็เอาความสามารถเฉพาะตัวมาวัดกันดิ"
....คิดกันแบบนี้แหละที่ประเทศชาติถึงตามตูดคนอื่นตลอด มีของดีๆๆก็ไม่สนับสนุน.
เช็งกับบ้างกลุ่มที่สมองไม่รู้จักโต...

แหล่งที่มา :click

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น